มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการประชุมการชี้แจงและถ่ายทอดแผนยุทธศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2568 – 2571 และแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. – 12.00 น. ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบการประชุมทางไกล (Zoom Meeting) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการรับรู้ และนำไปปฏิบัติในระดับส่วนงาน/หน่วยงาน อย่างทั่วถึง ซึ่งมีผู้เข้าร่วม Onsite 76 คน และ Online 273 คน
แผนยุทธศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2568 – 2571 และแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแผนในการบริหารและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย เป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญในแต่ละปีงบประมาณ ในการกำหนดแผนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเป็นแผนที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานเพื่อการปรับเปลี่ยน (Transformation) โดยยังต้องปรับเปลี่ยน (Transformation) ต่อเนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้มหาวิทยาลัยยังคงมีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตอุดมศึกษาไทยที่เกิดจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technologies) โดยแผนฯ ประกอบด้วย 11 ยุทธศาสตร์ 42 กลยุทธ์ 80 ผลลัพธ์สำคัญ (OKRs) และ 109 แผนงาน/โครงการ ซึ่งในแต่ละยุทธศาสตร์ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยน ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่เน้นการสอนเป็นเน้นการเรียนรู้ (Teaching paradigm to Learning paradigm) ปรับเปลี่ยนจากสอนให้รู้เป็น สอนให้คิด สามารถเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศได้ รวมถึงการพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในอนาคต
- ปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย (Research Transformation) ปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยเป็นกลุ่มหรือโครงการเดี่ยว (Single project) เป็นการทำงานวิจัยเป็นทีม (Research program) เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ (Impact) สูง รวมถึงการแสวงหาคู่ความร่วมมือทั้งในระดับชาติและระดับโลกสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าชั้นนำของโลก
- ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Transformation) มุ่งสร้างระบบบริหารจัดการผู้มีความสามารถพิเศษ (Talent management system) การสร้างค่านิยมสำหรับมุ่งเน้นความสำเร็จ การสร้างความผูกพันและการยกระดับความสามารถของบุคลากร
- การบริการวิชาการเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม (Societal Contributions) มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้สังคมครอบคลุมมุมมองทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ชุมชนและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
- ปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการองค์กร (Management Transformation) ออกแบบระบบงานและกระบวนการทำงานใหม่โดยไม่ยึดติดกับแบบเดิม (Reimagine work process) เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมด (Fully automation) และใช้แนวการทำงานที่เป็นเลิศ (Bring current work practices in line with best practices)
- สร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่น่าทำงาน (Best place to work) มีเครื่องมือพร้อมสำหรับการทำงานในทุกด้าน (Well equipped) สร้างสภาพแวดล้อมที่มีสุขอนามัย และความปลอดภัยสำหรับการทำงาน
- สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live) สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นชุมชนสีเขียว (Green University) สร้างสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย (Aesthetic Environment) และสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (KKU Smart City)
- ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) พัฒนาบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างระบบนิเวศเพื่อการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล
- การนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ (Internationalization) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับคู่ความร่วมมือระดับโลก การสร้างความร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) เพื่อรองรับอีสานใหม่ (New Isan)
- การบริหารตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีและการชี้นำสังคม (Good Governance) ป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการทุจริต สื่อสารภาพลักษณ์ และความเชื่อถือของมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของชุมชนและสังคมต่อมหาวิทยาลัย
- เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Collaboration & Coordination for Development) มีโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านการประเมินความเสี่ยงและความร่วมมือจากหลายส่วนงาน เช่น โครงการ KKU Park and Campus Village , โรงงาน Battery , โครงการเขตนวัตกรรมการแพทย์ฯ , โครงการ AI in Healthcare , โครงการสร้างตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Biopharma