การประชุมคณะกรรมการดำเนินการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 1/2568

          กองยุทธศาสตร์ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี เป็นประธานการประชุม โดยสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

  • แผนการบริหารความเสี่ยง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

          ผู้รับผิดชอบได้นำเสนอแผนการบริหารความเสี่ยง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด 10 ปัจจัย จำแนกตามประเภทความเสี่ยง 4 ด้าน โดยมีการนำเสนอ ได้แก่:

  1. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
    • จำนวนนักศึกษาบางสาขาวิชา (คณะสหวิทยาการ) รับเข้าต่ำกว่าแผนการรับนักศึกษา
    • หลักสูตรที่มีจำนวนนักศึกษาต่ำกว่าต้นทุน
    • นักศึกษาที่มีปัญหาความเครียดในระดับสูง
  2. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
    • ความเสี่ยงที่เกิดจากอุบัติเหตุภายในมหาวิทยาลัย (มีผลต่อชีวิตหรือสุขภาพ)
    • การถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของมหาวิทยาลัย
    • ความเสี่ยงต่อความล่าช้าในการดำเนินงานก่อสร้าง
  3. ความเสี่ยงด้านการเงิน
    • หน่วยงานวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง
    • ความเสี่ยงจากการไม่ดำเนินการตามระเบียบด้านการเงิน การคลัง และการจัดซื้อจัดจ้าง
  4. ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล
    • มหาวิทยาลัยอาจมีภาพลักษณ์เชิงลบ
    • บุคลากรและนักศึกษาถูกหลอกลวงจากสื่อและเว็บไซต์ออนไลน์
  • แผนบริหารความต่อเนื่อง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

          ผู้รับผิดชอบได้นำเสนอแผนบริหารความต่อเนื่อง (Business Continuity Management) เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการตอบสนองและปฏิบัติเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ ประกอบด้วย:

  1. แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย- มีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ซ้อมแผนอพยพ และดับเพลิง
  2. แผนรองรับสถานการณ์เหตุรุนแรง (วางเพลิง-กราดยิง)- ฝึกซ้อมแผนหนี-ซ่อน-สู้ และการเฝ้าระวัง
  3. แผนการจัดการกรณีไฟฟ้าดับหรือขัดข้อง- การเตรียมระบบไฟฟ้าสำรองและการตัดแต่งต้นไม้
  4. แผนการจัดการกรณีสารเคมีรั่วไหล- การจัดทำระบบบัญชีข้อมูลสารเคมีและการฝึกอบรม
  5. แผนการจัดการกรณีอาคารทรุด อาคารถล่ม- การประเมินและตรวจสอบสภาพอาคารเสี่ยง
  6. แผนเตรียมความพร้อมกรณีภัยแล้ง- การรณรงค์ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและการหาแหล่งน้ำสำรอง
  7. แผนเตรียมความพร้อมกรณีอุทกภัย- การพัฒนาระบบระบายน้ำและการสร้างบ่อกักน้ำ

          ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม

  1. ควรทบทวนคำนิยามของภาพลักษณ์เชิงลบให้ครอบคลุมนอกเหนือจากเรื่องร้องเรียน และเพิ่มมาตรการจัดการสื่อสารที่มีผลกระทบ
  2. พิจารณาปรับเปลี่ยนคำนิยามจาก “ความเครียด” เป็น “สุขภาวะทางจิตของนักศึกษา” หรือ “โรคซึมเศร้า” เพื่อสะท้อนปัญหาได้ชัดเจนขึ้น
  3. ควรควบรวมเว็บไซต์หน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยให้อยู่ภายใต้การดูแลของส่วนงานเพื่อลดความเสี่ยงทางไซเบอร์
  4. การป้องกันอัคคีภัย ควรติดตั้ง Smoke Detector ให้ครอบคลุมทุกจุด และกำหนดมาตรการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่เสี่ยง

12 Views